แนะนำที่ท่องเที่ยว/Travel Guides
สถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดสตูล
จังหวัดสตูล เป็นจังหวัดเล็กๆ ที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทยทางด้านชายฝั่งทะเลอันดามัน คำว่า สตูล มาจากคำภาษามลายูว่า สโตย แปลว่ากระท้อน ซึ่งเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ชุกชุมในท้องถิ่น โดยชื่อเมือง นครสโตยมำบังสการา (มาเลย์: Negeri Setoi Mumbang Segara) นั้นหมายความว่า สตูล เมืองแห่งพระสมุทรเทวา[3]
ดังนั้น "ตราพระสมุทรเทวา" จึงกลายเป็นตราสัญลักษณ์ของจังหวัดมาตราบเท่าทุกวันนี้ เมืองสตุลเป็นเมืองที่น่าอยู่และน่าเที่ยว มีความสงบและธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ประชากรทั้งไทยพุทธและมุสลิมอยู่ร่วมกันอย่าสันติสุข
จังหวัดสตูลโชคดีที่มีธรรมชาติแวดล้อมด้วยภูเขาและทะเล ด้านทิศใต้มีทิวเขาสันกาลาคีรีกั้นเขตแดนจังหวัดกับประเทศมาเลเซีย ด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือมีแนวทิวเขานครศรีธรรมราช เป็นปราการกั้นเมืองเอาไว้ ส่วนทิศตะวันตกมีเส้นชายฝั่งทะเลยาวเหยียด 144.80 กิโลเมตร มีเกาะจำนวน 105 เกาะ สมญาจังหวัดนี้ว่าเมืองร้อยเกาะก็น่าจะได้ จังหวัดสตูลอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ ทั้งป่าธรรมชาติละป่าชายเลน มีอุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง ดังนั้น จึงมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของจังหวัดมีดังต่อไปนี้ |
|
| อุทยานแห่งชาติทะเลบัน
ผืนป่าพรหมจารีแห่งเมืองสตูล
อุทยานแห่งชาติทะเลบันตั้งอยู่ในหมู่ที่ 4 ตำบลวังประจัน อำเภอควนโดน และพื้นที่ครอบคลุมถึงหมู่ที่ 3 ตำบลปูยู อำเภอเมืองสตูล จึงมีพื้นที่ส่วนที่เป็นภูเขากับส่วนที่เป็นป่าชายเลน ครอบคลุมสองอำเภอ ที่ทำการอุทยานตั้งอยู่ที่ทะเลบัน ตำบลวังประจัน ส่วนที่อำเภอเมืองสตูลมีเฉพาะหน่วยพิทักษ์อุทยาน ตั้งอยู่ที่ท่าเทียบเรือตำมะลัง อุทยานแห่งชาติทะเลบันได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยาน เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2523 จัดเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 20 ของประเทศไทย |
| น้ำตกวังสายทอง.....น้ำตกรูปทรงดอกบัว
น้ำตกวังสายทองตั้งอยู่ในหมู่ที่ 10 ตำบลน้ำผุด อำเภอเมืองละงู ห่างจากเขตเทศบาลตำบลกำแพง 28 กิโลเมตร สถานที่สำคัญที่ตั้งอยู่ใกล้น้ำตกวังสายทอง คือโรงเรียนบ้านวังสายทอง ซึ่งเปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษา น้ำตกตั้งอยู่ริมถนนสายทุ่งนางแก้ว-วังสายทอง ถนนลาดยางตลอด สามารถเดินทางไปเที่ยวได้ตลอดปี
|
| ถ้ำเจ็ดคต.....ถ้ำมหัศจรรย์มีลำคลองลอดผ่าน
ถ้ำเจ็ดคต หรือ “ถ้ำสัตคูหา” ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 10 ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู ด้านทิศเหนือของน้ำตก วังสายทองห่างไปราว 2 กิโลเมตร ระยะห่างจากเขตเทศบาลตำบลกำแพง 38 กิโลเมตร เส้นทางไปมาสะดวก ลาดยางถึงบริเวณถ้ำ จึงเดินทางไปท่องเที่ยวได้ตลอดปี ถ้ำเจ็ดคตมีความกว้าง 70 – 80 เมตร ยาวประมาณ 600 เมตร แบ่งออกเป็น 7 ช่วงหรือคูหา บางช่วงมีความสูงของเพดานถ้ำ 100 – 200 เมตร มีลำคลองไหลผ่านในถ้ำ คือ คลองมะนัง ต้นน้ำเกิดจากถ้ำโตน อยู่ทางเหนือของถ้ำป่าพน อำเภอมะนัง คลองมะนังไหลออกปากถ้ำไปบรรจบกับคลองละงู ซึ่งมีต้นน้ำเกิดจากภูเขาในจังหวัดตรัง |
| ถ้ำภูผาเพชร...... เพชรเม็ดงามที่เจียรนัยแล้ว
ถ้ำภูผาเพชร ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 9 บ้านควนดินดำ ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 27 กิโลเมตร ไปตามถนนที่ลาดยางตลอดสายจนถึงบริเวณถ้ำตั้งอยู่บนเทือกเขาหินปูน ในเขตของทิวเขานครศรีธรรมราช ซึ่งนิยมเรียกว่า เขาบรรทัด ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันออก ทางขึ้นไม่ค่อยลาดชันนัก ความสูงจากพื้นราบถึงปากถ้ำประมาณ 50 เมตร ใช้เวลาในการเดินทางจากพื้นราบถึงจุดเข้าถ้ำราว 30 นาที
|
| หมู่เกาะอาดัง-ราวี เกาะไข่ เกาะหินงาม เกาะยาง เกาะดง เกาะลองกวย
หมู่เกาะอาดัง-ราวี เป็นเกาะกลุ่มสุดท้ายของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ จึงมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เรือนแถวรับรอง ลานกางเต็นท์ และร้านอาหารที่อยู่ภายใต้การควบคุมของอุทยานฯ และยังมีชายหาดที่สวยงาม มีป่าไม้ที่สมบูรณ์ มีนกป่านานาชนิด รวมทั้งยังมีปะการังน้ำตื้นซึ่งเหมาะสำหรับการดำน้ำแบบสน๊อกเกิ้ล |
| เกาะบุโหลน.......หมู่เกาะไม้ไผ่
หมู่เกาะบูโหลนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 1 ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู ประกอบด้วยเกาะต่าง ๆ 8 เกาะ ได้แก่ เกาะบูโหลนเล เกาะบูโหลนดอน เกาะบูโหลนไม้ไผ่ เกาะตงกู เกาะลามา เกาะอายำ เกาะรังนก และเกาะลูกหิน บูโหลนเพี้ยนมาจากภาษามลายู “บูโละ” แปลว่า “ไม้ไผ่” เนื่องจากบนเกาะอุดมสมบูรณ์ด้วยไม้ไผ่ จึงเรียกชื่อเกาะตามพันธุ์ไม้ มีระยะห่างจากท่าเรือปากบาราประมาณ 22 กิโลเมตร การเดินทางไปเกาะบูโหลนจึงนิยมเดินทางจากท่าเรือปากบารา |
| เกาะหลีเป๊ะ
หลีเป๊ะเพี้ยนมาจากคำภาษามลายู “นิปิส” แปลว่า “บาง” เป็นชื่อเกาะเล็ก ๆ อยู่ห่างจากเกาะอาดังไปทางทิศใต้ราว 1 กิโลเมตร มีขนาดเล็กกว่าเกาะอาดังประมาณหนึ่งเท่า แต่เป็นเกาะที่มีความสำคัญ เนื่องจากลักษณะของเกาะเป็นที่ราบทั่วไป ส่วนที่เป็นภูเขามีเพียงเล็กน้อย เกาะนี้จึงมีผู้คนอาศัยกว่าหนึ่งพันคนเป็นชาวเกาะหรือชาวพื้นเมืองเดิม รู้จักกันในชื่อ “ชาวเล” หรือ “ชาวน้ำ” นั่นเอง มีโรงเรียนตั้งอยู่บนเกาะแห่งนี้ เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมปีที่ 3 ชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนบ้านเกาะอาดัง” ชื่อของโรงเรียนจึงไม่สอดคล้องกับชื่อเกาะ |
| อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ....มรดกแห่งอาเซียน
เมื่อเอ่ยชื่อจังหวัดสตูล ทุกคนต้องรู้จักเกาะตะรุเตา เนื่องจากเป็นเกาะที่มีชื่อเสียงโด่งดังในประวัติศาสตร์ เมื่อสมัย 60 ปีที่แล้ว เกาะแห่งนี้เคยใช้เป็นสถานที่กักกันนักโทษเป็นที่มาของโจรสลัดตะรุเตาที่ อื้อฉาว ล่วงมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2517 ได้ประกาศจัดตั้งเป็น “ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา” เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 8 ถือเป็นอุทยานทางทะเลแห่งแรกและใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ต่อมาองค์การยูเนสโกได้ประกาศให้อุทยานแห่งชาติตะรุเตาเป็น “มรดกแห่งอาเซียน” ( ASEAN Heritage Parks and Reserves ) เป็นสถานที่ที่ต้องช่วยกันดูแลรักษา เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกมาศึกษาและเยี่ยมชมตลอดไป |
|